พระธาตุยาคู เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในบริเวณเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง ที่มีสภาพความสมบูรณ์กว่า เจดีย์ หรือพระธาตุ องค์อื่น ๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง จากการขุดดิน ขุดแต่งของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2510-2511 พบว่าส่วนฐานเดิมลึกจมดินลงไปจากฐานที่พบในปัจจุบันอีกชั้นหนึ่งลักษณะฐานก่อด้วยอิฐ มีผังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ความสูงประมาณ 1 เมตรเศษ และพบว่ามีการก่อสร้างฐานเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยา ในลักษณะเป็นฐานเขียง ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น ชั้นที่ 4 มีความสูงมากกว่าทุกชั้นและมีส่วนบนสอบเข้าเล็กน้อยส่วนเรือนธาตุ มีลักษณะ 8 เหลี่ยมด้านบนสอบเข้าหากันด้านบนทำเป็นกลีบบัวหงาย ส่วนยอดสอบเข้าหากันเป็นยอดแหลม ซึ่งบูรณะติดต่อเติมขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ ขนาดของเจดีย์ (พระธาตุ) กว้างประมาณ 16 เมตร ส่วนฐานก่ออิฐไม่ก่อปูน สูงประมาณ 1-1.5 เมตร ส่วนที่เป็นเรือนธาตุ และยอดสูง 1.5 เมตร และมีเจดีย์ (เจดีย์บริวาร) เรียงรายด้านทิศใต้ 3 องค์
“พระธาตุยาคู” เป็นคำเรียกของประชาชนในท้องถิ่น ใช้รียกเจดีย์องค์นี้โดยเชื่อว่า เป็นธาตุที่บรรจุอัฐิของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่เคารพนับที่ของประชาชนในท้องถิ่นที่มีสมณศักดิ์ ตามคำเรียกสมณศักดิ์พระสงฆ์อิสานที่มีมาแต่โบราณว่า “ญาครู”
ปัจจุบันได้มีนักวิชาการทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่าเจดีย์หรือพระธาตุองค์นี้ไม่น่าจะสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของภิกษุสามัญชน หากแต่สร้างขึ้นเนื่องด้วยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากมีหลักฐานด้วยโบราณคดีประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหลายประการ
