Menu

แนะนำเมืองฟ้าแดดสงยาง

บริบทของพื้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง
จากเอกสารโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย ของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2552-2553 ได้ศึกษาและรายงานสภาพพื้นที่และบริบทพื้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ไว้ดังนี้ เมืองฟ้าแดดสงยางตั้งอยู่ในเขตบ้านเสมา ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัด(เดิมชื่อบ้านก้อม) กาฬสินธุ์ บริเวณเส้นรุ้งที่ 16 องศา 18 ลิปดา 15 ฟิลิปดา เหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 30 ลิปดา 55 ฟิลิปดาตะวันออก หรือพิกัดกริด 48 QUD 414031 – 424051
ลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำลำปาว เป็นที่ราบลุ่มสลับกับเนินดินและบึงหนองน้ำธรรมชาติหลายแห่ง โดยมีน้ำขังตลอดปี ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ แหล่งเกลือสินเธาว์ มีไม้เนื้อแข็ง ประเภท เต็ง รัง ตะแบก ในภาษาพื้นเมืองเรียกว่า เปลือย และต้นไม้ตระกูลยาง ปัจจุบันป่าไม้เหล่านี้หมดสภาพไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ยังเหลืออยู่บางส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ชื่อไม้เหล่านี้นั้นจึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน บ้านสงเปลือย (ตะแบกสูง) คำว่า สง คือ ลักษณะของกลุ่มไม้ที่เป็นทิวแถวต่อ (ต้นสูงยาง) บ้านสงยางเนื่องกันไป พื้นที่บริเวณนี้จึงมีความอุดมสมบูรณ์จากแหล่งน้ำลำปาว และพัดพาตะกอนของน้ำทับถมกันทุกปี มีแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการตั้งชุมชนและการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณ และการคมนาคมสะดวก เพราะลำปาวมีต้นน้ำอยู่บริเวณหนองกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และไหลผ่านจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และจะเชื่อมต่อต่อกับแม่น้ำชีบริเวณรอยต่อของจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณในการติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มชนในแอ่งสกลนครโดยเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง
       เมืองฟ้าแดดสงยางตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120 เมตร แผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 1,075 X 2000 เมตร มีกำแพงเมืองและคูน้ำจำนวน 2 ชั้น คันดินกว้าง 25 – 30 เมตร คูน้ำกว้าง 20 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่นอกเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือขนาดกว้าง 400 เมตร ยาว 650 เมตร และสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมเป็นหนองนกผืดอยู่ทางทิศใต้ มีขนาดกว้าง 480 เมตรยาว 995 เมตร ภายในตัวเมืองมีเนินดินสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว 140 เมตร จำนวน 3 แห่ง คือ ดอนเมืองเก่า หรือดอนกรรม แห่งที่ 2 คือ โนนวัดสูงอยู่ทางทิศใต้ของดอนเมืองเก่า แห่งที่ 3 อยู่บริเวณกึ่งกลางเมืองค่อนมาทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเสมา วัดโพธิชัยเสมารามและโรงเรียน
การดำเนินงานทางโบราณคดีในบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองฟ้าแดดสงยางได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2479 และเล่มที่ 119 ตอนที่พิเศษ 117ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 พื้นที่ 910 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา

ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง

ตำนานเกี่ยวกับฟ้าแดดสงยาง
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2553) ได้รวบรวมตำนานเกี่ยวกับเมืองฟ้าแดดไว้พอสังเขปดังนี้คือ ไม่มีหลักฐานใดๆที่กล่าวถึงชื่อเดิมของเมืองโบราณแห่งนี้ การเรียกชื่อเมืองโบราณแห่งนี้จึงอนุโลมเรียกตามชื่อในตำนานท้องถิ่นผนวกกับลักษณะเด่นของหมู่บ้านคือต้นยางสูงใหญ่เป็นเมืองฟ้าแดดสงยางหรือฟ้าแดดสูงยาง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของผู้ที่มิได้ศึกษาเฉพาะด้านที่คิดว่าตำนานท้องถิ่นประเภทอธิบายเหตุเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางมีดังนี้
       ตํานานเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นเรื่องสั้นไม่ระบุระยะเวลากล่าวถึงพญาจันทร์ (บางตำนานว่า จันทราช)เจ้าเมืองฟ้าแดดสงยางมีฉายาชื่อนางเขียวค่อม (บางตำนาน ว่าจันทาเทวี) กับธิดาชื่อฟ้าหยาดซึ่งมีรูปโฉมงดงามมากเมืองฟ้าแดดมีเมืองใกล้เคียงอีกสามเมืองคือเมืองเชียงโสม เมืองเชียงสาและเมืองสร้อย โดยมีพี่น้องท้องเดียวกันอีก ๓ คนปกครองเมืองตามลำดับคือ พระยาเชียงโสม พญาเชียงสา พญาเชียงสร้อยเมืองทั้งหมดมี ความรุ่งเรืองและอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา
       วันหนึ่งพญาเชียงสร้อยเสด็จออกไปต่อไก่ป่าแต่ไม่ได้กลับได้พบไก่บ้านสวยงามตัวหนึ่งจึงเดินติดตามไปประสงค์จะได้ไก่นั้น เมื่อติดตามไปถึงริมบึงแห่งหนึ่งที่นั่นพญาเชียงสร้อยได้พบนางฟ้าหยาดซึ่งมีรูปโฉมงดงามกำลังอาบน้ำอยู่นึกชอบจึงได้เฝ้ารอจนนางฟ้าหยาดเสร็จจากการอาบน้ำมานั่งพักอยู่ที่โนนสาวเอ้ พญาเชียงสร้อยจึงเข้าไปพบในที่สุดทั้งสองมีความชอบพอรักให้กันและสัญญาว่าจะมาสู่ขอ
พญาเชียงสร้อยส่งญาติผู้ใหญ่ไปสู่ขอนางฟ้าหยาดจากพญาจันทร์ ทางฝ่ายพญาจันทร์เห็นว่าธิดาของตนยังมีอายุน้อยยังไม่สมควรจะมีคู่ครองจึงตอบปฏิเสธเป็นเหตุให้พญาเชียงสร้อยไม่พอพระทัยยกกองทัพมาทำสงครามกับพญาจันทร์แห่งเมืองฟ้าแดดสงยางจนตัวเองเสียชีวิตในการรบครั้งนั้น นางฟ้าหยาดเมื่อทราบว่าพญาเชียงสร้อยเสียชีวิตและก็ตัดสินใจพระทัยใช้พระขรรค์ปลงชีพตนเองไปด้วย
ทางฝ่ายพญาเชียงโสมและพญาเชียงสาผู้เป็นพี่เมื่อทราบว่าพญาเสียงสร้อยน้องของตนเองเสียชีวิตจากการรบกับพญาจันทร์ จึงพร้อมกันนำกองทัพจากเมืองของตนเข้าทำสงครามกับเมืองฟ้าแดดสงยาง พญาจันทร์และนางเขียวค่อมต่อสู้จนเสียชีวิตพญาเชียงโฉมและพญาเชียงสายึดเมืองฟ้าแดดสงยางไว้ได้ต่อมาเมืองทั้งหมดที่กล่าวถึงถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างในที่สุด
       รายละเอียดของตำนานนี้กล่าวถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไว้ทั้งหมดซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ตั้งของหมู่บ้าน ลำน้ำและน้องน้ำที่อยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นส่วนใหญ่ ซากโบราณที่เมืองฟ้าแดดสงยางซึ่งชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุคำหยาดก็เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์ที่พระยาจันทร์สร้างขึ้นเพื่อบรรจุศพของนางฟ้าหยาดกับพระยาเชียงสร้อย ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นตำนานประเภทอธิบายเหตุแต่งขึ้นเพื่ออธิบายสภาพพื้นที่และสิ่งที่มีอยู่แล้วซึ่งกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ใหม่ไม่ทราบความเป็นมา โดยผูกเรื่องเป็นนิทานที่มักคล้ายคลึงกันทั้งทุกแห่งคือมีเรื่องของการรบเพื่อแย่งชิงธิดาของเจ้าเมืองแล้วทำการไม่สำเร็จตัวต้องตายเป็นเหตุให้ธิดาของเจ้าเมืองปลงชีวิตตัวเองในที่สุดมีการรบครั้งใหญ่แล้วเมืองร้างไปเช่นนี้ฉากประกอบของเรื่องซึ่งผูกขึ้นโดยคนท้องถิ่นเป็นอย่างง่ายๆ มีบรรยากาศที่ตนคุ้นเคย เช่น การไปต่อไก่ป่า นางฟ้าหยาดไปอาบน้ำที่มึงแล้วมาพักที่เนินสูงข้างบึง (โนนสาวเอ้ – เอ้ หมายถึงการแต่งตัว) แล้วมีชายหนุ่มไปพบซึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของหนุ่มสาวทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มไปพบกันจากการไปตักน้ำที่แหล่งน้ำเพื่อนำไปอุปโ